วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร

ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร(ข้าวโป่งสมุนไพร)

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ชาวบ้านโคกสี หมู่ที่ 1 ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา มีอาชีพหลักส่วนใหญ่ คือ ทำนา หลังจากว่างจากฤดูทำนา ว่างจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวบ้านโคกสีจะหาอาชีพเสริมในยามว่างเพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาสู่ครัวเรือนของตน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ทอเสื่อกก แปรรูปผลผลิตจากการเกษตร เช่น กล้วยกวน หรือทำข้าวเกรียบว่าว เป็นต้น และอาชีพเสริมที่ทำให้บ้านโคกสี เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ใกล้เคียง คือ การทำ ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ ข้าวโป่งสมุนไพร
ข้าวเกรียบว่าว นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่างประจำบ้านของคนไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะช่วงงานบุญ ช่วงหน้าหนาว หรือช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลทำนาทำไร่ ข้าวเกรียบว่าวมีลักษณะเป็นวงกลมแผ่นบางๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ภาคอีสาน เรียก ข้าวโป่ง ภาคใต้ เรียก เกียบหรือเกียบเหนียว ภาคเหนือ เรียก ข้าวควบ หรือ ข้าวพอง ภาคกลาง เรียก ข้าวเกรียบว่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีลักษณะเป็นแผ่นบางใหญ่ น้ำหนักเบา มีสีขาวคล้ายกับว่าว เป็นขนมที่หาดูได้ยากในปัจจุบันและหาคนที่ทำอร่อยได้ยากมากขึ้นทุกที
ในสมัยก่อน ชาวอีสานนิยม ทำข้าวโป่ง มาร่วมในงานบุญพระเวสน์(บุญเดือนสี่) ถวายเป็นของหวานพร้อมกับข้าวต้มมัดและข้าวจี่ และทำเป็นของฝากญาติ พี่น้อง ที่มาร่วมในงานบุญ ชาวภาคเหนือนิยมทำข้าวเกรียบว่าวในช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อเตรียมต้อนรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

1. มาตรฐาน อย.
2. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2

ความสัมพันธ์กับชุมชน

การรวมตัวกันก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกสี ของแม่บ้านในหมู่บ้าน ที่มีใจรักและมีความสามารถในการทำข้าวโป่งสมุนไพร ต้องการที่จะมีอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาในการผลิตข้าวโป่งให้คงอยู่และสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป และการรวมกลุ่มยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความผูกพัน ความสามัคคีในหมู่คณะ ความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมา
สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกสี มีรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายข้าวโป่งจนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะความต้องการของตลาดยังมีอยู่มาก ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านโคกสีมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ข้าวเหนียวอย่างดี
2. น้ำตาล
3. กะทิ
4. เกลือ
5. งา
6. น้ำมันพืช
7. ไข่แดงต้มสุก
8. ใบเตย, ดอกอัญชัน, มันเทศ
วัสดุอุปกรณ์
1. มวยหรือหวดนึ่งข้าว
2. ครกกระเดื่องไฟฟ้า
3. ไม้พิมพ์ ใช้สำหรับทับก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนกลมให้แบนออกเป็นแผ่นบาง
4. แผ่นพลาสติก ใช้สำหรับรองข้าวเหนียวที่จะนำมาทับด้วยไม้พิมพ์ ไม่ให้ข้าวเหนียวสัมผัสกับไม้พิมพ์
5. ผ้าตาข่ายเขียว สำหรับตากข้าวโป่งให้แห้งสนิท
6. เหล็กปิ้ง/ไม้ปิ้ง

ขั้นตอนการผลิต

1. แช่ข้าวสารเหนียวในน้ำอย่างน้อย 12 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวไปนึ่งให้สุก
2. นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ ไปตำให้ละเอียด ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ครกมองหรือครกกระเดื่อง(ใช้เท้าเหยียบ) แต่ในปัจจุบันพัฒนาเป็นเครื่องกระเดื่องไฟฟ้าเพื่อช่วยทุนแรง
การตำข้าวถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญจะต้องได้ข้าวที่ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ข้าวโป่งที่ได้จะปิ้งออกมาไม่สวย เช่น ปิ้งแล้วข้าวโป่งไม่พอง มีไตแข็ง รสชาติไม่ดี เป็นต้น การตำข้าวจะต้องพรมน้ำตลอดเพื่อไม่ให้ข้าวติดครกติดสาก เมื่อข้าวเหนียวติดตัวกันดีแล้วนำส่วนผสมอื่นๆ ลงไปผสม ซึ่งได้แก่ น้ำใบเตย หรือน้ำแตงโม หรือน้ำดอกอัญชัน เกลือ น้ำตาลทราย งา น้ำกะทิสด ใส่ลงไปตำให้แหลกจนเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ติดมือ
3. การแจะ คือ การทำให้เป็นแผ่นบางๆ ทางภาคเหนือเรียกว่า การแหนะ นำข้าวเหนียวที่ตำละเอียดแล้วปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดเหมาะสมเท่ากับขนาดของแผ่นข้าวเกรียบว่าวที่ต้องการ โดยก่อนปั้นจะต้องทามือ และแผ่นพลาสติกด้วยน้ำมันพืชผสมกับไข่แดงต้มสุกเพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือและแผ่นพลาสติก
ปั้นข้าวเป็นก้อนกลมๆ แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่คลึงทับให้เป็นแผ่นบาง แต่ในปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสีใช้ไม้พิมพ์หรือเหล็กพิมพ์ทับให้เป็นแผ่นข้าวโป่งซึ่งมีหลายขนาดทั้งกลาง เล็ก ใหญ่
4. การตากแห้ง ลอกแผ่นข้าวเหนียวจากแผ่นพลาสติก นำไปวางไว้บนตาข่ายที่ขึงกับไม้ยาว ถ้าหากแดดดีๆ จะตากไว้ 1 วัน ถ้าแดดไม่มีอาจผึ่งไว้ 2 วัน ในระหว่างที่ผึ่งแดดต้องพลิกให้โดนแดดทั้งสองข้างเพื่อให้แห้งเร็วขึ้น เมื่อแห้งสนิทนำมาบรรจุในพลาสติก เก็บได้นานประมาณ 3 เดือน
5. การปิ้งข้าวโป่ง ก่อนจะนำมารับประทานต้องนำไปปิ้งไฟก่อน โดยใช้ไฟอ่อนๆ หมั่นกลับไปกลับมาให้สุกทั่วกันทั้งสองข้าง แผ่นข้าวโป่งจะยืดออก โป่งพอง กรอบ การปิ้งจะใช้ไม้ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำด้วยไม้ไผ่ 2 อัน และตอนปลายไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่ ไม้ข้าวจี และเรียกการจี่ข้าวโป่งว่า จี่ เกรียบ
ในสมัยก่อนนิยมนำก่อเป็นกองด้วยฟืนตรงลานบ้าน แต่ปัจจุบันนิยมใช้เตาถ่าน เตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้า เพราะสะดวกและไม่เป็นเขม่าควันขณะที่กำลังปิ้งไฟ การปิ้งควรพลิกข้าวเกรียบไปมาให้ได้ความร้อนเท่ากัน การพลิกต้องทำอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยใช้ไม้จี่ในการคอยรับและพลิกแผ่นข้าวเกรียบเพื่อให้แผ่นข้าวเกรียบสุกพองเสมอกัน

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

การทำข้าวโป่ง จะนิยมทำในช่วงฤดูหนาว เพราะเวลาปิ้งข้าวโป่งจะทำให้ไม่ร้อนมากนัก จะอุ่นพอดี นอกจากนี้ในฤดูหนาวเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นการพักผ่อน หางานอดิเรกทำสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง
การนำมารับประทาน การรับประทานข้าวโป่งควรรับประทานตอนที่สุกใหม่ๆ ซึ่งจะมีกลิ่นหอม รสหวาน และกรอบอร่อย เวลาหยิบจับควรมีความระมัดระวัง เพราข้าวโป่งมีลักษณะบางมากอาจแต่หรือหักได้ง่าย แต่ถ้าหากทิ้งข้าวโป่งไว้จะไม่กรอบ ไม่อร่อย
ข้าวโป่งจะมีสีขาวหม่น หากผสมมันเทศจะได้ข้าวโป่งสีเหลืองหม่น ผสมดอกอัญชันจะได้สีม่วง ผสมแตงโมจะได้สีแดง และถ้าผสมน้ำใบเตยจะได้ข้าวโป่งสีเขียวอ่อน เป็นเทคนิคในการเพิ่มความน่าสนใจให้กับข้าวโป่งของวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสี เป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า ข้าวโป่งสมุนไพร นั่นเอง
แหล่งที่ มาhttp://www.otoptoday.com/wisdom/food

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น