วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร

ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร(ข้าวโป่งสมุนไพร)

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ชาวบ้านโคกสี หมู่ที่ 1 ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา มีอาชีพหลักส่วนใหญ่ คือ ทำนา หลังจากว่างจากฤดูทำนา ว่างจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวบ้านโคกสีจะหาอาชีพเสริมในยามว่างเพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาสู่ครัวเรือนของตน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ทอเสื่อกก แปรรูปผลผลิตจากการเกษตร เช่น กล้วยกวน หรือทำข้าวเกรียบว่าว เป็นต้น และอาชีพเสริมที่ทำให้บ้านโคกสี เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ใกล้เคียง คือ การทำ ข้าวเกรียบว่าวสมุนไพร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ ข้าวโป่งสมุนไพร
ข้าวเกรียบว่าว นิยมใช้รับประทานเป็นอาหารว่างประจำบ้านของคนไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะช่วงงานบุญ ช่วงหน้าหนาว หรือช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลทำนาทำไร่ ข้าวเกรียบว่าวมีลักษณะเป็นวงกลมแผ่นบางๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ภาคอีสาน เรียก ข้าวโป่ง ภาคใต้ เรียก เกียบหรือเกียบเหนียว ภาคเหนือ เรียก ข้าวควบ หรือ ข้าวพอง ภาคกลาง เรียก ข้าวเกรียบว่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีลักษณะเป็นแผ่นบางใหญ่ น้ำหนักเบา มีสีขาวคล้ายกับว่าว เป็นขนมที่หาดูได้ยากในปัจจุบันและหาคนที่ทำอร่อยได้ยากมากขึ้นทุกที
ในสมัยก่อน ชาวอีสานนิยม ทำข้าวโป่ง มาร่วมในงานบุญพระเวสน์(บุญเดือนสี่) ถวายเป็นของหวานพร้อมกับข้าวต้มมัดและข้าวจี่ และทำเป็นของฝากญาติ พี่น้อง ที่มาร่วมในงานบุญ ชาวภาคเหนือนิยมทำข้าวเกรียบว่าวในช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อเตรียมต้อนรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

1. มาตรฐาน อย.
2. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2

ความสัมพันธ์กับชุมชน

การรวมตัวกันก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกสี ของแม่บ้านในหมู่บ้าน ที่มีใจรักและมีความสามารถในการทำข้าวโป่งสมุนไพร ต้องการที่จะมีอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะได้เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาในการผลิตข้าวโป่งให้คงอยู่และสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป และการรวมกลุ่มยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความผูกพัน ความสามัคคีในหมู่คณะ ความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมา
สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกสี มีรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายข้าวโป่งจนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะความต้องการของตลาดยังมีอยู่มาก ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านโคกสีมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ข้าวเหนียวอย่างดี
2. น้ำตาล
3. กะทิ
4. เกลือ
5. งา
6. น้ำมันพืช
7. ไข่แดงต้มสุก
8. ใบเตย, ดอกอัญชัน, มันเทศ
วัสดุอุปกรณ์
1. มวยหรือหวดนึ่งข้าว
2. ครกกระเดื่องไฟฟ้า
3. ไม้พิมพ์ ใช้สำหรับทับก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนกลมให้แบนออกเป็นแผ่นบาง
4. แผ่นพลาสติก ใช้สำหรับรองข้าวเหนียวที่จะนำมาทับด้วยไม้พิมพ์ ไม่ให้ข้าวเหนียวสัมผัสกับไม้พิมพ์
5. ผ้าตาข่ายเขียว สำหรับตากข้าวโป่งให้แห้งสนิท
6. เหล็กปิ้ง/ไม้ปิ้ง

ขั้นตอนการผลิต

1. แช่ข้าวสารเหนียวในน้ำอย่างน้อย 12 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวไปนึ่งให้สุก
2. นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ ไปตำให้ละเอียด ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ครกมองหรือครกกระเดื่อง(ใช้เท้าเหยียบ) แต่ในปัจจุบันพัฒนาเป็นเครื่องกระเดื่องไฟฟ้าเพื่อช่วยทุนแรง
การตำข้าวถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญจะต้องได้ข้าวที่ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ข้าวโป่งที่ได้จะปิ้งออกมาไม่สวย เช่น ปิ้งแล้วข้าวโป่งไม่พอง มีไตแข็ง รสชาติไม่ดี เป็นต้น การตำข้าวจะต้องพรมน้ำตลอดเพื่อไม่ให้ข้าวติดครกติดสาก เมื่อข้าวเหนียวติดตัวกันดีแล้วนำส่วนผสมอื่นๆ ลงไปผสม ซึ่งได้แก่ น้ำใบเตย หรือน้ำแตงโม หรือน้ำดอกอัญชัน เกลือ น้ำตาลทราย งา น้ำกะทิสด ใส่ลงไปตำให้แหลกจนเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ติดมือ
3. การแจะ คือ การทำให้เป็นแผ่นบางๆ ทางภาคเหนือเรียกว่า การแหนะ นำข้าวเหนียวที่ตำละเอียดแล้วปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดเหมาะสมเท่ากับขนาดของแผ่นข้าวเกรียบว่าวที่ต้องการ โดยก่อนปั้นจะต้องทามือ และแผ่นพลาสติกด้วยน้ำมันพืชผสมกับไข่แดงต้มสุกเพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือและแผ่นพลาสติก
ปั้นข้าวเป็นก้อนกลมๆ แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่คลึงทับให้เป็นแผ่นบาง แต่ในปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสีใช้ไม้พิมพ์หรือเหล็กพิมพ์ทับให้เป็นแผ่นข้าวโป่งซึ่งมีหลายขนาดทั้งกลาง เล็ก ใหญ่
4. การตากแห้ง ลอกแผ่นข้าวเหนียวจากแผ่นพลาสติก นำไปวางไว้บนตาข่ายที่ขึงกับไม้ยาว ถ้าหากแดดดีๆ จะตากไว้ 1 วัน ถ้าแดดไม่มีอาจผึ่งไว้ 2 วัน ในระหว่างที่ผึ่งแดดต้องพลิกให้โดนแดดทั้งสองข้างเพื่อให้แห้งเร็วขึ้น เมื่อแห้งสนิทนำมาบรรจุในพลาสติก เก็บได้นานประมาณ 3 เดือน
5. การปิ้งข้าวโป่ง ก่อนจะนำมารับประทานต้องนำไปปิ้งไฟก่อน โดยใช้ไฟอ่อนๆ หมั่นกลับไปกลับมาให้สุกทั่วกันทั้งสองข้าง แผ่นข้าวโป่งจะยืดออก โป่งพอง กรอบ การปิ้งจะใช้ไม้ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำด้วยไม้ไผ่ 2 อัน และตอนปลายไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่ ไม้ข้าวจี และเรียกการจี่ข้าวโป่งว่า จี่ เกรียบ
ในสมัยก่อนนิยมนำก่อเป็นกองด้วยฟืนตรงลานบ้าน แต่ปัจจุบันนิยมใช้เตาถ่าน เตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้า เพราะสะดวกและไม่เป็นเขม่าควันขณะที่กำลังปิ้งไฟ การปิ้งควรพลิกข้าวเกรียบไปมาให้ได้ความร้อนเท่ากัน การพลิกต้องทำอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยใช้ไม้จี่ในการคอยรับและพลิกแผ่นข้าวเกรียบเพื่อให้แผ่นข้าวเกรียบสุกพองเสมอกัน

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

การทำข้าวโป่ง จะนิยมทำในช่วงฤดูหนาว เพราะเวลาปิ้งข้าวโป่งจะทำให้ไม่ร้อนมากนัก จะอุ่นพอดี นอกจากนี้ในฤดูหนาวเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นการพักผ่อน หางานอดิเรกทำสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง
การนำมารับประทาน การรับประทานข้าวโป่งควรรับประทานตอนที่สุกใหม่ๆ ซึ่งจะมีกลิ่นหอม รสหวาน และกรอบอร่อย เวลาหยิบจับควรมีความระมัดระวัง เพราข้าวโป่งมีลักษณะบางมากอาจแต่หรือหักได้ง่าย แต่ถ้าหากทิ้งข้าวโป่งไว้จะไม่กรอบ ไม่อร่อย
ข้าวโป่งจะมีสีขาวหม่น หากผสมมันเทศจะได้ข้าวโป่งสีเหลืองหม่น ผสมดอกอัญชันจะได้สีม่วง ผสมแตงโมจะได้สีแดง และถ้าผสมน้ำใบเตยจะได้ข้าวโป่งสีเขียวอ่อน เป็นเทคนิคในการเพิ่มความน่าสนใจให้กับข้าวโป่งของวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสี เป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า ข้าวโป่งสมุนไพร นั่นเอง
แหล่งที่ มาhttp://www.otoptoday.com/wisdom/food

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กล้วยหาบมุกฉาบ


                               ผลิตภัณฑ์

กล้วยหาบมุกฉาบ



ประวัติความเป็นมา

กล้วยหาบมุกในพื้นที่ ตำบลฉมัน จะปลูกมาก เพราะเป็นต้นไม้มงคล ชาวโบราณมักปลูกในบริเวณบ้านเพื่อเสริมบารมี จึงทำให้มีกล้วยฉาบมุกมีอยู่มากในพื้นที่ แต่ไม่เป็นที่นิยมเพื่อรับประทาน ถึงรับประทานก็เป็นปริมาณน้อย และหากจะนำไปขาย ราคาก็ต่ำมาก ซ้ำตลาดก็ยังไม่มีมาก จึงเริ่มนำมาฉาบ เพื่อเสริมเพิ่มรายได้อีกทางด้วย เริ่มจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี่ พุทธศักราช 2548 และ มีเทศบาลตำบลฉมัน เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ ทางการผลิตต่าง กล้วยหาบมุก มีลักษณะเด่น คือ แป้งน้อย ผลสุกมีรส หวานอมเปรี้ยว คนสวนใหญ่ไม่นิยมรับประทานสุก จึงคิดวิธีการแปรรูป ให้สามารถนำผลดิบมารับประทานได้ สามารถนำมาฉาบ จะได้แผ่นใหญ่ สีสันสวยงาม เป็นสีทอง หากผลที่นำมาทำมีลักษณะแก่เต็มที่ รสชาติก็ดี ไม่ แข็งจนเกินไป

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

-

ความสัมพันธ์กับชุมชน

เป็นการเพิ่มตลาดให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูก ในพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากทางกลุ่ม รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง มีผลทำให้ผลิตผลไม่เหลือทิ้ง ด้อยค่า อย่างแต่ก่อน และมีผลทำให้สร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนยิ่งขึ้น จากการพบปะกันมากขึ้น และมีกิจกรรมให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1) กล้วยหาบมุก ที่แก่ได้ที่
2) มีดปลอกเปลือก มีดสไลด์แผ่น
3) น้ำมะขาม น้ำผึ้ง น้ำตาล และ เกลือ

ขั้นตอนการผลิต

1) ปลอกเปลือกออก
2) เตรียมกระทะ ตั้งน้ำมันให้ร้อนได้ที่ แล้วสไลด์ กล้วยหาบมุกลงไป
3) รอจนกว่ากล้วยจะสุก
4) นำกล้วยที่สุกแล้วขึ้นจากน้ำมัน
5) หากเป็นรสเค็มนำมาคลุกกับเกลือ หากเป็นรสหวานให้ชุบน้ำเชื่อมสูตรพิเศษสามรส เสร็จแล้วนำไปอบ
6) บรรจุลงถุง

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

-

ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

กลุ่มลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง บ้านค่าเหนือพัฒนา หมู่ที่ ๑ ตำบลป่าซาง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เกิดจากการวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ มาปรับใช้ จึงทำให้ผลผลิตล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำเกิดภาระหนี้สินตามมาในครอบครัวเกษตรกรในชุมชน จึงได้มีการรวมตัวกันของสตรีภาคเกษตรกร จัดตั้งเป็นแม่บ้านเกษตรกรเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๕ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร สมาชิกก่อตั้งครั้งแรก จำนวน ๒๒ คนน และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และได้การสนับสนุนใตด้านวิชาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงได้เกิดแนวคิดที่จะแปรรูปลำไยอบเนื้อสีทอง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน ๓๐ คนผลผลิตการเกษตรเกษตรลำไยที่ได้แปรรูปทำให้เป็นการสร้างมูลค่าได้ราคาสูงขึ้นและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้ครอบครัวสมาชิกของกลุ่มเป็นแม่บ้านเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

การยกระดับมาตรฐาน ได้รับ อย.

ความสัมพันธ์กับชุมชน

การพัฒนากระบวนการผลิตกลุ่มลำไยอบแห้ง ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้เข้าศึกษากระบวนการของกลุ่ม วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่กลุ่มดำเนินการ แต่เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มจะมีช่วงฤดูที่ผลิตผลลำไยออก ในเบื้องต้นในการดำเนินงานโครงการจึงไม่เห็นกระบวนการจริงๆ แต่ได้ทราบจากรูปภาพและการเล่าของคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามจากการลงไปพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับประธานและสมาชิกกลุ่ม ศึกษากระบวนการผลิต การใช้วัตถุดิบ ผลการดำเนินการที่ส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาอุปสรรค์ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

รับซื้อลำไยจากสวนเกษตรกรในท้องถิ่น เขตจังหวัดพะเยา ๙ อำเภอ คือ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเมือง อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง อำเภอภูกามยาว อำเภอแม่ใจ

ขั้นตอนการผลิต

1.รับซื้อลำไยสดเกรด AA-A ซึ่งโดยส่วนใหญ่ จะมีชาวสวนในพื้นที่นำลำไยมาส่งถึงที่ โดยกลุ่มจะมีกรรมการรับซื้อรับใยโดยเฉพาะ ลำไยที่รับซื้อก็จะเป็นลำไยคุณภาพดี
2.คว้านเมล็ดแกะเปลือกออก วิธีการโดยการคว้านด้วยมือ ซึ่งก็วิธีการหนึ่งที่ทางกลุ่มยังกำลังค้นหาวิธีการที่จะทำให้ดี และเร็วขึ้น
3. ล้างน้ำให้สะอาด
4. ตักลำไยขึ้นให้เสด็ดน้ำ
5. นำลำไยเรียงในกระด้ง คว่ำหัวลง
6.นำเข้าเตาอบใช้ไฟประมาณ ๖๐-๗๐ องศาเซลเซียส ประมาณ ๑๒ ชั่วโมง
7. เปิดดูให้ลำไยเป็นเนื้อสีทอง
8.นำลำไยออกจากเตาอบคัดเกรดอีกที
9.นำลำไยที่อบแล้วตากแดดประมาณ ๑-๒ แดด
10.บรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

ไม่มี

กาละแม

กาละแม

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ในอดีต คุณแม่ เหี๊ยะ ทองสง่า มีอาชีพกวนกาละแมขายช่วงงานประเพณี เทศกาล ตลอดจนงานในชุมชน ตามแต่จะมีคนมาว่าจ้างสั่งทำ ขณะนั้นเป็นเด็กได้ช่วยแม่ทำมาตลอด จึงเกิดแรงบันดาลใจ และ ชื่นชอบการทำขนมไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
คุณแม่เหี๊ยะ มีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นผู้หญิงล้วน แต่ละคนพี่น้องไม่ชอบการทำขนม ยกเว้นข้าพเจ้า ซึ่งคุณแม่เหี๊ยะ เรียกใช้งานตลอดเวลาที่คุณแม่ทำขนม ต้องช่วยคุณแม่ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ผสมแป้ง เติมถ่านใส่เตา ข้าพเจ้าจึงซึมซับวิธีการทำกาละแม และรับหน้าที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาการทำกะละแมต่อจากคุณแม่ เพื่อรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
หลังจากเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้ไปเป็นพนักงานของบริษัทที่ตำบลเขาหัวควาย ได้ให้คุณแม่เหี๊ยะ กวนกาละแมไปขายเพื่อนพนักงานด้วยกัน เป็นอาชีพเสริมในขณะนั้น พอช่วงเทศกาลงานประเพณีวัฒนธรรม เช่น รับส่งตายาย ทำบุญเดือนสิบ ทำบุญเดือนสิบเอ็ด เพื่อนพนักงานที่บริษัท จะสั่งทำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าน่าจะประกอบเป็นอาชีพหลัก โดยลาออกจากพนักงานบริษัทฯ มาทำกาละแมจำหน่ายที่ตลาดนัดนายพันธุ์ และรับสั่งทำที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลมะลวนอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รหัสไปรษณีย์ 84130 โดยเน้นการคัดเลือกมะพร้าวห้าวในสวนซึ่งมีคุณสมบัติใหม่ สด เพื่อให้ได้กะทิสด มัน เป็นส่วนผสมในการทำขนม ตลอดจนได้รับคำชื่นชมถึงความอร่อยในรสชาดจากลูกค้า โดยการบอกต่อแบบปากต่อปาก วิธีการจำหน่ายโดยการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ และมารับที่บ้านด้วยตนเอง หากต้องการซื้อไปกินจำนวนไม่มาก สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดนัดนายพันธุ์ (ทางเข้า อบต.มะลวน) ทุกวันพุธ และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. -10.00 น. นับว่ากะละแมในนาม กาละแมพี่เล็ก บ้านหัวหาญ มะลวน เป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้ามีรายได้ที่มั่นคง เป็นทุนในการส่งบุตรเรียนหนังสือ สร้างรายได้ให้กับคนวัย 40-60 ปีในชุมชน ตลอดจนผู้ค้าปลีกที่นำสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่อำเภอพุนพิน และผู้เฒ่า มีรายได้จากการจำหน่ายมะพร้าวสดเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการทำขนม

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

ไม่มี

ความสัมพันธ์กับชุมชน

เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำขนมไทย โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ให้กับนักศึกษา กศน.พุนพิน เป็นวิทยากรพิเศษกิจกรรมสาธิตการทำขนมไทย ของ กศน.อ.พุนพิน ให้กลุ่มผู้สนใจ เป็นต้น ใช้แรงงาน อายุระหว่าง 50-60 ปี ในพื้นที่ในการผลิต มีผู้สั่งซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายปลีกตามตลาดนัด ตลอดจนได้สนับสนุนของขวัญในการจัดกิจกรรมวันเด็กของ อบต.มะลวน

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

วัตถุดิบ และส่วนประกอบ (อัตราส่วนต่อ 5 กิโลกรัม)
ส่วนผสม 1) แป้งข้าวเหนียว จำนวน 1 กิโลกรัม
2) น้ำตาลมะพร้าว จำนวน 3 กิโลกรัม
3) มะพร้าวขูดคั้นกะทิ จำนวน 10 กิโลกรัม 
แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหัวกะทิ ๘ กิโลกรัม ส่วนหางกะทิ 2 กิโลกรัม
อุปกรณ์ 1) กระชอน
2) ถุงกรองกะทิ
3) กาละมังสแตนเลส
4) กะทะ ขนาด 22

ขั้นตอนการผลิต

1) ผสมแป้งข้าวเหนียวกับน้ำกะทิส่วนหาง ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
2) นำกะทิส่วนหัวตั้งไฟจนแตกมัน
3) นำแป้งที่ผสมแล้วตามข้อ 1) ใส่ลงไป กวนจนแป้งสุก ประมาณ 15 นาที ใส่น้ำตาลมะพร้าว กวนต่อจนแป้งเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันเป็นสีน้ำตาลคล้ำ โดยนำนิ้วไปแตะแป้งจะไม่ติดมือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 
4) ยกขนมลงจากเตา วางทิ้งไว้ให้เย็นสนิท ประมาณ 5-6 ชั่วโมง
5) ตัดขนม และบรรจุใส่ถุง เพื่อจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

เคล็ดลับในการทำกะละแมให้อร่อย และมีคุณภาพ ต้องเริ่มต้นจากการคัดสรรมะพร้าวในการมาคั้นกะทิ และน้ำตาลมะพร้าว ตลอดจนการผสมแป้งกับกะทิ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นต้องควบคุมอุณหภูมิในการนึ่งให้คงที่ ในระหว่างการกวนกะละแม

ขนมชั้นมะพร้าวน้ำหอม

ประวัติความเป็นมา

ในอดีตได้ไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยไปพักอาศัยอยู่บ้านคุณป้าสมนึก พรหมแช่ม(แม่นึก) ซึ่งมีอาชีพทำขนมไทยขายหลายอย่าง อาทิ ขนมชั้น ขนมหม้อแกง วุ้นกะทิ ทองหยิบ ทองหยอด ขนมเม็ดขนุน ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวมูน จึงเกิดแรงบันดาลใจ และชื่นชอบการทำขนมไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาคุณป้าสมนึก มีลูกชายทั้งหมด 5 คน และแต่ละคนไม่ขอบการทำขนม จึงทำให้คุณป้าขาดผู้สืบทอดในด้านนี้ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นหลานสาวจึงรับหน้าที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาการทำขนสมชั้นต่อจากคุณป้า เพื่อรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย และกลับมาอยู่บ้านที่ตำบลมะลวน ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดการรวมตัวจัดตั้ง กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านดอนแฝก มีสมาชิกจำนวน 30 คน กิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการคือ การทำขนมไทยจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้าน โดยนำภูมิความรู้การทำขนมไทย มาถ่ายทอดให้กับสมาชิกกลุ่ม แต่เนื่องจากการทำกิจกรรมกับคนจำนวนมาก และเวลาไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดการแยกตัวของสมาชิก โดยส่วนตัวข้าพเจ้าชอบทำขนมไทย จึงยังรงดำเนินการภายในครัวเรือน เป็นธุรกิจของครอบคัว และมีการพัฒนาโดยการนำมะพร้าวน้ำหอม และน้ำมะพร้าวน้ำหอม มาเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากคุณชยันต์(สามี) ได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพื่อจำหน่ายมะพร้าวอ่อน แต่ราคาผลผลิตตกต่ำ จึงนำมาเพิ่มมูลค่า โดยใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนม เช่น ขนมชั้น วุ้นกะทิ ขนมหม้อแกง ผลปรากฏว่า ขนมชั้น ได้รับการตอบรับมากกว่าขนมชนิดอื่น เพราะมีการสั่งซื้อมากที่สุด ตลอดจนได้รับคำชื่นชมถึงความอร่อยในรสชาติจากลูกค้า โดยกันบอกต่อแบบปากต่อปาก วิธีการจำหน่ายโดยการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ และมารับที่บ้านด้วยตนเอง หากต้องการซื้อไปกินจำนวนไม่มาก สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดนัด Co-op ทุกวันพุธ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-16.00 น. และตลาดนัดนายพันธ์ (ทางเข้า อบต.มะลวน) ทุกวันพุธ และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น.-10.00 น.ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาด้านการบริหารจัดการ จากสำนักงานเกษตร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในด้านการบรรจุภัณฑ์ การสร้างตราผลิตภัณฑ์ และวิธีการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มขึ้น จึงนำมาพัฒนาขนมชั้นจากที่ทำใส่ถาด และห่อใบตอง มาพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นการบรรจุกล่อง มีการทำสลากสินค้าเพื่อให้ลูกค้ารู้จัก และรู้แหล่งผลิตที่สามารถติดต่อได้จนนำไปสู่การนำขนมชั้นไปลงทะเบียน OTOP นับว่าขนมชั้นทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้ามีรายได้ที่มั่นคง เป็นทุนในการส่งบุตรเรียนหนังสือ สร้างรายได้ให้กับคนวัย 50-60 ปีในชุมชน ตลอดจนผู้ค้าปลีกที่นำสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่อำเภอพุนพิน และอำเภอท่าฉาง เป็นรางวัลยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดของข้าพเจ้าที่ได้ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ และสามารถทำให้ผู้คนรู้จักบ้านดอนแฝก ตำบลมะลวน ในนาม ขนมชั้นมะพร้าวน้ำหอม แม่อี๊ดมะลวน

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มผช.) ปี 2553

ความสัมพันธ์กับชุมชน

เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำขนมไทย โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ให้กับนักเรียน ตลอดจนกลุ่มผู้สนใจ เช่น นักเรียนโรงเรียนพุนพินพิทยาคม โรงเรียนกาญจนาภิเษก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนพันธศึกษา ต.มะลวน อ.พุนพิน นักศึกษา กศน.พุนพิน เป็นวิทยากรพิเศษกิจกรรมสาธิตการทำขนมไทย ของ กศน.อ.พุนพิน ให้กลุ่มผู้สนใจ เป็นต้น ใช้แรงงาน อายุระหว่าง 50-60 ปี ในพื้นที่ในการผลิต มีผู้สั่งซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายปลีกตามตลาดนัด ตลาดเช้าในตัวอำเภอพุนพิน ตลอดจนได้สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น สนับสนุนของขวัญในวันผู้สูงอายุ ให้กับชมรมผู้สูงอายุตำบลมะลวน สนับสนุนของขวัญในการจัดกิจกรรมวันเด็กของ อบต.มะลวน และโรงเรียนวัดแหลมไผ่ ต.มะลวน

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

วัตถุดิบ (อัตราส่วนต่อ 1 ถาด ขนาด 12X12)
1. แป้งมัน จำนวน 700 กรัม
2. น้ำตาลทรายขาว จำนวน 1 กิโลกรัม
3. มะพร้าวขูด 1 กิโลกรัม คั้นกะทิ จำนวน 700 กรัม
4. น้ำใบเตย หรือ น้ำดอกอัญชัน จำนวน 1 ถ้วนตวง
5. เกลือป่น จำนวน 1 ส่วน 4 ช้อนชา
อุปกรณ์ 1. ถาดอลูมิเนียม ขนาด 12X12
2. กะทะ ขนาด 22พร้อมฝาปิด ขนาด 18 สำหรับนึ่งขนม
3. เตาแก๊ส

ขั้นตอนการผลิต

1. ผสมแป้งมัน น้ำตาลทรายขาว และกะทิ ขยำส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำไปกรอง
2. แบ่งส่วนผสมออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน
ส่วนที่ 1 ใช้ทำเป็นสีขาว
ส่วนที่ 2 ใช้ผสมเป็นชั้นสีตามต้องการ
3. วางถาดอลูมิเนียมในน้ำเดือดจัด นึ่งถาดประมาณ 5 นาที
4. หยอดแป้งทีละชั้น ชั้นละ 1 ถ้วยตวง โดยเริ่มจากชั้นสีขาว สลับกับชั้นสี โดยใช้เวลาในการนึ่ง ชั้นละประมาณ 7 นาที จนเต็มถาดจะได้ขนมชั้น จำนวน 9 ชั้น
5. ยกขนมลงจากเตา วางทิ้งไว้ให้เย็นสนิท ประมาณ 5-6 ชั่วโมง
6. ตัดขนม และบรรจุใส่กล่อง เพื่อจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

เคล็ดลับในการทำขนมชั้นให้อร่อย และมีคุณภาพ ต้องเริ่มต้นจากการผสมแป้ง กะทิ น้ำตาล ให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นต้องควบคุมอุณหภูมิในการนึ่งให้คงที่ และรักษาระดับน้ำที่ใช้ในการนึ่ง โดยเติมน้ำทุกครั้งที่หยอดแป้ง การหยอดแป้งชั้นต่อไปต้องให้แป้งชั้นแรกสุกก่อน โดยใช้ถ้วยตวงในปริมาณเท่ากันทุกชั้น
แหล่งที่มา http://www.otoptoday.com/wisdom/8789