วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กาละแม

กาละแม

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ในอดีต คุณแม่ เหี๊ยะ ทองสง่า มีอาชีพกวนกาละแมขายช่วงงานประเพณี เทศกาล ตลอดจนงานในชุมชน ตามแต่จะมีคนมาว่าจ้างสั่งทำ ขณะนั้นเป็นเด็กได้ช่วยแม่ทำมาตลอด จึงเกิดแรงบันดาลใจ และ ชื่นชอบการทำขนมไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
คุณแม่เหี๊ยะ มีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นผู้หญิงล้วน แต่ละคนพี่น้องไม่ชอบการทำขนม ยกเว้นข้าพเจ้า ซึ่งคุณแม่เหี๊ยะ เรียกใช้งานตลอดเวลาที่คุณแม่ทำขนม ต้องช่วยคุณแม่ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ผสมแป้ง เติมถ่านใส่เตา ข้าพเจ้าจึงซึมซับวิธีการทำกาละแม และรับหน้าที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาการทำกะละแมต่อจากคุณแม่ เพื่อรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
หลังจากเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้ไปเป็นพนักงานของบริษัทที่ตำบลเขาหัวควาย ได้ให้คุณแม่เหี๊ยะ กวนกาละแมไปขายเพื่อนพนักงานด้วยกัน เป็นอาชีพเสริมในขณะนั้น พอช่วงเทศกาลงานประเพณีวัฒนธรรม เช่น รับส่งตายาย ทำบุญเดือนสิบ ทำบุญเดือนสิบเอ็ด เพื่อนพนักงานที่บริษัท จะสั่งทำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าน่าจะประกอบเป็นอาชีพหลัก โดยลาออกจากพนักงานบริษัทฯ มาทำกาละแมจำหน่ายที่ตลาดนัดนายพันธุ์ และรับสั่งทำที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลมะลวนอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รหัสไปรษณีย์ 84130 โดยเน้นการคัดเลือกมะพร้าวห้าวในสวนซึ่งมีคุณสมบัติใหม่ สด เพื่อให้ได้กะทิสด มัน เป็นส่วนผสมในการทำขนม ตลอดจนได้รับคำชื่นชมถึงความอร่อยในรสชาดจากลูกค้า โดยการบอกต่อแบบปากต่อปาก วิธีการจำหน่ายโดยการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ และมารับที่บ้านด้วยตนเอง หากต้องการซื้อไปกินจำนวนไม่มาก สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดนัดนายพันธุ์ (ทางเข้า อบต.มะลวน) ทุกวันพุธ และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. -10.00 น. นับว่ากะละแมในนาม กาละแมพี่เล็ก บ้านหัวหาญ มะลวน เป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้ามีรายได้ที่มั่นคง เป็นทุนในการส่งบุตรเรียนหนังสือ สร้างรายได้ให้กับคนวัย 40-60 ปีในชุมชน ตลอดจนผู้ค้าปลีกที่นำสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่อำเภอพุนพิน และผู้เฒ่า มีรายได้จากการจำหน่ายมะพร้าวสดเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการทำขนม

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

ไม่มี

ความสัมพันธ์กับชุมชน

เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำขนมไทย โดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ให้กับนักศึกษา กศน.พุนพิน เป็นวิทยากรพิเศษกิจกรรมสาธิตการทำขนมไทย ของ กศน.อ.พุนพิน ให้กลุ่มผู้สนใจ เป็นต้น ใช้แรงงาน อายุระหว่าง 50-60 ปี ในพื้นที่ในการผลิต มีผู้สั่งซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายปลีกตามตลาดนัด ตลอดจนได้สนับสนุนของขวัญในการจัดกิจกรรมวันเด็กของ อบต.มะลวน

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

วัตถุดิบ และส่วนประกอบ (อัตราส่วนต่อ 5 กิโลกรัม)
ส่วนผสม 1) แป้งข้าวเหนียว จำนวน 1 กิโลกรัม
2) น้ำตาลมะพร้าว จำนวน 3 กิโลกรัม
3) มะพร้าวขูดคั้นกะทิ จำนวน 10 กิโลกรัม 
แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหัวกะทิ ๘ กิโลกรัม ส่วนหางกะทิ 2 กิโลกรัม
อุปกรณ์ 1) กระชอน
2) ถุงกรองกะทิ
3) กาละมังสแตนเลส
4) กะทะ ขนาด 22

ขั้นตอนการผลิต

1) ผสมแป้งข้าวเหนียวกับน้ำกะทิส่วนหาง ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
2) นำกะทิส่วนหัวตั้งไฟจนแตกมัน
3) นำแป้งที่ผสมแล้วตามข้อ 1) ใส่ลงไป กวนจนแป้งสุก ประมาณ 15 นาที ใส่น้ำตาลมะพร้าว กวนต่อจนแป้งเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันเป็นสีน้ำตาลคล้ำ โดยนำนิ้วไปแตะแป้งจะไม่ติดมือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 
4) ยกขนมลงจากเตา วางทิ้งไว้ให้เย็นสนิท ประมาณ 5-6 ชั่วโมง
5) ตัดขนม และบรรจุใส่ถุง เพื่อจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

เคล็ดลับในการทำกะละแมให้อร่อย และมีคุณภาพ ต้องเริ่มต้นจากการคัดสรรมะพร้าวในการมาคั้นกะทิ และน้ำตาลมะพร้าว ตลอดจนการผสมแป้งกับกะทิ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นต้องควบคุมอุณหภูมิในการนึ่งให้คงที่ ในระหว่างการกวนกะละแม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น